DDR4 เทคโนโลยีตัวใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ DDR3


หากจะให้กล่าวถึงฮาร์ดแวร์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในเคสบวมๆ ของพีซี หลายคนก็อาจให้ความสำคัญกับอุปกรณ์แต่ละชิ้นมากน้อยต่างกันไป ใครที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดต่อวิดีโอหรือกราฟิกก็อาจเน้นโปรเซสเซอร์หลายแกน มี GHz แรงๆ เพื่อให้ประมวลผลได้รวดเร็ว หากใครเป็นเกมเมอร์ก็อาจให้ความสำคัญกับการ์ดกราฟิกเพื่อให้เล่นเกมได้อย่างลื่นไหล
ใครที่ชอบโหลดสารพันไฟล์มาเก็บในเครื่องเยอะๆ ก็อาจชอบฮาร์ดดิสก์ลูกโตๆ หรือแบบ SSD ความเร็วสูงเพราะจะได้บู๊ตเครื่องได้ไวๆ และหากใครใช้คอมพิวเตอร์ทำงานทั่วไปก็อาจให้ความสำคัญเท่ากันหมด เพราะไม่รู้ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ทำงานใดเป็นพิเศษกันแน่
แล้วแรมล่ะ? แน่นอนผมไม่ได้กล่าวว่าหน่วยความจำไม่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีก็เปิดเครื่องไม่ขึ้น (ฮา!) แต่ปัจจุบันหลายท่านจะสังเกตได้ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาแรมไม่ได้มีการพัฒนามากนัก ขณะที่โปรเซสเซอร์มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ อาทิ ลดขนาดกระบวนการผลิตลง มีแกนประมวลผลมากขึ้น หรือนำมาแต่งงานกับจีพียูจนคลอดมาเป็นเอพียู ส่วนการ์ดกราฟิกก็หนีไม่พ้นเรื่องความแรงที่เพิ่มขึ้นกับเพิ่มความสามารถด้านการทำ Compute ทำให้เราสามารถใช้การ์ดจอทำอย่างอื่นได้นอกจากการเล่นเกม แต่กับแรมนั้นเรากลับไม่ได้เห็นการพัฒนามากนัก เทคโนโลยีที่ใช้ยังเป็น DDR3 เหมือนเดิม อาจมีการเพิ่มลูกเล่นใหม่อย่าง Quad Channel และมีรุ่นใหม่ที่มีความเร็วเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เห็นประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากนักและโดยหลักแล้วก็ยังเป็นการพัฒนาในลักษณะเหล้าเก่าในขวดใหม่เสียมากกว่า
ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนผลัดใบของแรมจากชนิด Single Data Rate (SDR) ไปเป็น Double Data Rate (DDR) ที่ทำให้หน่วยความจำของเราสามารถโอนถ่ายข้อมูลได้ทั้งขาขึ้นและลงไปพร้อมกันในช่วงสัญญาณนาฬิกา จากนั้นเราก็ได้เห็นแรมชนิด DDR2 ที่ทำงานได้เร็วขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลง จนกระทั่งมาจบที่ DDR3 ซึ่งยังคงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเดิมแต่มีพัฒนาการด้านความเร็ว รวมทั้งเพิ่มลูกเล่นใหม่บางอย่างตามที่กล่าว และต่อไปนี้ผมจะนำพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ DDR4 มาตรฐานหน่วยความจำใหม่ที่กำลังจะมาแทนที่ DDR3 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากันครับ
มีอะไรใหม่ใน DDR4
แรม DDR4 จาก Samsung
แรม DDR4 จาก Samsung
แม้ว่าตอนนี้สเปคที่ใช้กำหนดมาตรฐานของ DDR4 ยังไม่เป็นที่ลงตัวนัก แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งให้บรรดาบริษัททั้งหลายประกาศเปิดตัวแรมชนิดนี้กันอยู่เรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้ว Samsung ประกาศว่าได้พัฒนาโมดูลแรม DDR4 ที่มีหน่วยความจำ 2GB จนแล้วเสร็จ ใช้กระบวนการผลิต 30 นาโนเมตร มีอัตราโอนถ่ายข้อมูลที่ 2,133MHz และกินไฟเพียง 1.2 โวลต์เท่านั้น ต่อมา Hynix บริษัทผลิตหน่วยความจำชื่อดังอีกแห่งได้ประกาศเปิดตัวแรม DDR4 ที่มีสเปคเช่นเดียวกับของ Samsung แทบทุกประการ เพียงแต่มีความเร็วมากถึง 2,400MHz และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมท่านมา บริษัท Micron ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหน่วยความจำอีกเจ้า ก็ได้ประกาศว่า ได้จัดส่งแรม DDR4 ความเร็ว 2,400MHz ไปให้กับลูกค้าแล้วบางเจ้า และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเป็นจำนวนมากได้ในสิ้นปีนี้ และสำหรับเป้าหมายต่อไปก็คือรุ่นที่มีความเร็ว 3,200MHz นั่นเอง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลักของแรมชนิดใหม่นี้ก็คือมีความเร็วมากขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีประโยชน์โดยตรงกับผู้ใช้อุปกรณ์พกพาเพราะแบตเตอรี่จะอึดขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลล่าสุด (ขณะที่เขียนบทความ) จากเว็บไซต์ DDR4.org ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแรมชนิดนี้โดยเฉพาะ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า แรม DDR4 จะมีความเร็วเริ่มต้นที่ 2,133MHz ซึ่งเป็นความเร็วมากสุดที่มาตรฐานแรม DDR3 รองรับและอาจพุ่งขึ้นไปถึง 4,266MHz ส่วนพลังงานที่ใช้ก็จะเริ่มต้นที่ 1.2 โวลต์ แทนที่จะเป็น 1.35 หรือ 1.5 โวลต์ ใน DDR3 และอาจพัฒนาให้ลดลงเหลือเพียง 1.05 โวลต์ ได้ในบางรุ่น ทำให้อัตราการใช้พลังงานโดยรวมของแรม DDR4 นั้นจะน้อยกว่า DDR3 ถึง 40% ไม่เลวทีเดียวใช่ไหมครับ
นอกจากนั้น แรม DDR4 ยังอาจทำให้การติดตั้งแรมแบบ Dual, Triple หรือ Quad Channel กลายเป็นอดีต เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการนำเทคโนโลยี point-to-point topology มาใช้ ทำให้แต่ละ Channel ของหน่วยความจำจะเชื่อมต่อกับแรมได้เพียงตัวเดียว ซึ่งอาจหมายความว่า หากต้องการให้ระบบโดยรวมสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เราต้องติดตั้งแรมให้ครบทุกช่องนั่นเอง
แผนภาพแสดงเทคนิค point to point topology ของแรม DDR4
แผนภาพแสดงเทคนิค point to point topology ของแรม DDR4
แล้วจะได้เห็นกันเมื่อไร
ขณะนี้กำหนดการวางตลาดแรม DDR4 ยังไม่มีอะไรแน่นอน แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นกันปลายปีนี้ ทว่าจะไปปรากฏบนแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์นะครับ ไม่ใช่เดสก์ท้อปหรือโน้ตบุ๊กที่เราใช้ๆ กัน แต่ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตชิพรายใหญ่อย่าง Intel และ AMD ด้วยว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มของตนให้รองรับแรมตัวใหม่ได้เร็วแค่ไหน เพราะหากมีแรมออกมาแต่ไม่มีเมนบอร์ดหรือโปรเซสเซอร์รองรับก็สูญเปล่า ทั้งนี้ได้มีการคาดว่ากว่าแรม DDR4 จะได้ฤกษ์เปิดตัวบนเดสก์ท้อปก็อาจปาเข้าไป ค.ศ. 2014 และอาจสามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้ราว 12% แต่จะเพิ่มไปเป็น 56% ภายใน ค.ศ.2015 แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น เนื่องจากแรม DDR3 ยังต้องใช้เวลาหลายปีกว่าราคาจะปรับลดลงมาและทำส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้น
ทิศทางของแรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ทิศทางของแรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่คาดเดาได้ยากยิ่งกว่าก็คือประสิทธิภาพการใช้งานจริงที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับแรม DDR3 เดิมเนื่องจากยังไม่มีการทดสอบกันอย่างจริงจัง แต่ข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้ก็ทำให้คาดเดาได้ว่าเราคงไม่ได้เห็นเฟรมเรทตอนเล่นเกมเพิ่มขึ้นอย่างปรู๊ดปร๊าด หรือบู๊ตเครื่องเข้า Windows เสร็จภายในสามวินาที เพราะแม้ว่าโครงสร้างภายในจะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เพิ่มความถี่ไปได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอัตราการเข้าถึงจะรวดเร็วขึ้นด้วยหรือไม่ ทำให้เกิดคอขวดขึ้นในระหว่างการร้องขอข้อมูลอยู่ดี
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแรม DDR4 จะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะการที่ตัวแรมกินไฟน้อยลงนั้นก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับโน้ตบุ๊กหรืออัลตราบุ๊ก (คงไม่มีใครอยากใช้เน็ตบุ๊กกันแล้วเนอะ :/ ) โดยเฉพาะตัวหลังที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ สามารถเพิ่มปริมาณแรมไปได้มากขึ้นในขณะที่กินไฟน้อยลงหรือเท่าเดิม ส่งผลให้เราสามารถใช้งานในรูปแบบมัลติท๊าซกิ้งเปิดหลายโปรแกรมทำงานไปพร้อมกันได้เร็วกว่า และที่สำคัญที่สุดคือเราคงหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่พ้นอยู่ดีอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับแรมรุ่นพี่มาแล้วก่อนหน้า
ภาพแรม DDR4 จาก Micron
ภาพแรม DDR4 จาก Micron


ที่มา : bitwiredblog.com
Previous
Next Post »