การประกอบชุดน้ำ water cooling


STEP 1 ขั้นตอนแรกของการประกอบชุดน้ำเลยก็คือตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมดก่อนว่าครบหรือไม่ ซึ่งหลักๆ ก็จะมีบล็อกน้ำ, หม้อน้ำ, ปั๊มน้ำ, สายยาง, น้ำหล่อเย็น และชุดน็อตต่างๆ ซึ่งถ้าหากอุปกรณ์ไม่ครบเอาตอนที่ประกอบใกล้เสร็จแล้วคงต้องปวดหัวกันเป็นแน่ครับ
STEP 2 ลำดับต่อไปก็ทำการติดตั้งบล็อกน้ำ ในส่วนนี้ต้องเริ่มติดตั้งคานยึดด้านหลังเมนบอร์ดก่อน คานนี้มีไว้รั้งเมนบอร์ดไม่ให้งอตัวมากเกินไปเมื่อถูกยึดกับบล็อกน้ำ จากนั้นก็ใส่น็อตเข้าไปตามรูของซ็อกเก็ตซีพียู จากนั้นก็พลิกเมนบอร์ดขึ้นด้านบน
STEP 3 เมื่อหงายเมนบอร์ดขึ้นมาก็ทำการยึดน็อตเข้ากับเมนบอร์ดและทาซิลิโคน ตรงนี้ก็แล้วกำลังทรัพย์ของแต่ละคนว่าจะกระเป๋าตุงขนาดไหน ถ้าพวกซิลิโคนราคาแพงหน่อย (พวกสีเงินๆ) ก็จะนำความร้อนได้ดีกว่าแบบสีขาว แต่สำหรับผมใช้สีขาวครับ เพราะกระเป๋าแบน T-T ครับ
STEP 4 พอละเลงซิลิโคนกันเรียบร้อยก็นำบล็อกน้ำ (Water Block) ลงประกบเข้ากับซีพียูได้เลย จากนั้นก็นำน็อตมาขันล็อกบล็อกน้ำ ตรงส่วนเวลาขันน็อตผมมีเทคนิคมาบอกครับคือเวลาขันน็อตให้ค่อยๆ ขันลงไปทีละตัวอย่างหลวมๆ จนครบ จากนั้นก็ค่อยๆ ขันวนไปทีละตัวให้แน่นจนครบ อย่าขันให้แน่นเพียงทีเดียว ไม่อย่างนั้นหน้าสัมผัสของบล็อกน้ำอาจจะแนบไม่สนิทกับซีพียู เป็นสาเหตุให้นำความร้อนได้ไม่เต็มที่ครับ
STEP 5 นำเมนบอร์ดลงติดตั้งลงในเคส แล้วจัดการหาที่ยึดหม้อน้ำ (Radiator) ส่วนนี้ก็แล้วแต่สะดวกเลยครับว่าจะติดตั้งตรงไหน ถ้าเป็นเคสแนวตั้งส่วนใหญ่ถ้าหากเป็นหม้อน้ำขนาด 12 ซม. ก็จะติดไว้ด้านหลังของเคสแทนที่พัดลม แต่เคสผมเป็นเคสแบบแนวนอนเลยติดด้านข้างซะเลย เอาลมเป่าอัดเข้าเมนบอร์ดไปในตัวด้วย
STEP 6 ติดตั้งปั๊มน้ำ (Pump) ไว้ในที่ที่เหมาะสมซึ่งสามารถเติมน้ำได้สะดวก เพราะเมื่องานในระยะเวลาหนึ่งน้ำหล่อเย็นจะลดลงไปบ้างต้องค่อยเติมให้เต็มครับ เนื่องจากเคสของผมค่อนข้างเล็กเลยวางไว้ทื่อๆ หน้าเคสซะเลย อิอิ
STEP 7 มาถึงขั้นตอนวัดสาย ควรวัดสายเผื่อๆ ไว้บ้างเล็กน้อยอย่าให้สั้นจนเกินไปครับ เพราะถ้าตัดสายสั้นเกินไปส่วนที่สายมันโค้งตัวมากอาจจะพับตัวได้ ทำให้น้ำหล่อเย็นไหลผ่านไม่ได้เต็มที่ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มได้
STEP 8 พอวัดสายกันเรียบร้อยแล้วก็เสียบสายยางเชื่อมต่อแต่ละจุดเข้าด้วยกัน เวลาเสียบต้องดันสายเข้าให้สุดแล้วอย่าลืมใส่แหวนล็อกสายยางด้วยล่ะ ไม่งั้นใช้ๆ งานอยู่แล้วน้ำพุ่งออกมาไม่รู้ด้วยนะ หุหุ (ตรงวิธีเสียบต้องดูตามคู่มือของชุดน้ำของรุ่นนั้นๆ ว่าต้องว่าลำดับทางเดินน้ำอย่างไร เช่นชุดของผมเริ่มจากปั๊มน้ำ บล็อกน้ำ หม้อน้ำ แล้ววนกลับมาปั๊มน้ำ)
STEP 9 เมื่อต่อสายยางเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็ทำการประกอบเครื่อง เสียบสายไฟต่างๆ ให้พร้อมใช้งานแล้วมาเข้าสู่ขั้นตอนเติมน้ำหล่อเย็นเข้าระบบกันเลย แต่ก่อนเติมอย่าเพิ่งเปิดเครื่องนะครับ ให้เทน้ำหล่อเย็นลงไปจนถึงขีด “High” ของถังพักน้ำซะก่อน จากนั้นก็ถึงเวลาสำคัญแล้วกดปุ่มเปิดเครื่องเลย (จะอยู่หรือตายก็อยู่กันตอนนี้แหละครับ 555) พอเปิดเครื่องน้ำหล่อเย็นที่อยู่ในถังพักก็จะถูกปั๊มน้ำดูดเข้าไปในระบบจนเหลือเกือบไม่ถึงครึ่ง พอถึงตอนนี้เราก็ต้องเติมน้ำเข้าถังพักจนถึงระดับ “High” อีกครั้ง หลังจากนี้ก็รอให้ระบบทำงานไปเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างนี้ระบบมันจะไล่ฟองอากาศในท่อออกมาเองครับ หลังจากประกอบชุดน้ำเสร็จมีเรื่องที่ควรใส่ใจมากๆ คือเรื่องน้ำรั่วซึมครับ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีน้ำซึมออกมาจากจุดไหนบ้างรึเปล่า (หากน้ำหยดลงเมนบอร์ดปริมาณมากอาจทำให้เมนบอร์ดเสียหายได้) การตรวจสอบทำได้โดยการเปิดเครื่องทิ้งไว้สักพักแล้วเราก็ตรวจดูตามจุดเชื่อมต่อของสายยางต่างๆ ว่ามีน้ำซึมออกมาหรือไม่ ถ้ามีก็ควรปิดเครื่องแล้วดูว่าเสียบสายเข้าไปจนสุดและรัดแหวนแน่นดีหรือยังครับ สำหรับประสิทธิภาพของมันนั้นลดความร้อนได้จากฮีตซิงก์ซีพียูตัวเดิม (Arctic Cooling Freezer 7 Pro) ของผมได้มากทีเดียว จากเดิมที่อุณหภูมิตอนไม่มีโหลด (Idle) อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส (C) ช่วงใช้งานเต็มที่ (Full Load) อยู่ที่ 50C แต่พอเปลี่ยนมาใช้ชุดน้ำตัวนี้ตอน Idle ลดลงมาที่ 26C Full Load ลดลงมาที่ 40C เครื่องที่ใช้ทดสอบเป็น Core 2 Duo E6700(ES) 2.66GHz โอเวอร์คล็อกไปที่ 3.0GHz อุณหภูมิห้อง 26 – 27C บทความนี้หวังว่าเป็นประโยชน์กับผู้ที่อยากจะเล่นชุดน้ำดูบ้างแต่อาจจะกลัวเรื่องของการประกอบที่ยุ่งยากครับ แต่ถ้าได้ลองประกอบดูแล้วบอกได้เลยว่าไม่ยากอย่างที่คิดเลยครับทั้งยังสนุกปนความตื่นเต้นดีอีกต่างหาก (ตื่นเต้นกลัวน้ำไหลท่วมเครื่อง 555) สำหรับ FG ฉบับนี้ในคอลัมน์ How to ขอลาไปเพียงเท่านี้ครับ นำเสนอโดย




ที่มา - tontrakool5657.wordpress.com





Previous
Next Post »

1 ความคิดเห็น:

Write ความคิดเห็น
Unknown
AUTHOR
12 พฤศจิกายน 2558 เวลา 18:35 delete

เห็นร้านี้ขายอยูมีเเต่ของสวยๆ ลองเข้าไปดูครับ http://playcooling.com/

Reply
avatar